โครงการอบรม
เทคนิคการจัดการแมลงและสัตว์พาหะแบบบูรณาการ ตามมาตรฐาน GMP รุ่นที่ 8
ในปัจจุบันอุตสาหกรรมผลิตอาหารหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเวชภัณฑ์ ทั้งที่เป็นอาหารของมนุษย์และไม่ใช่อาหารของมนุษย์ อุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งมีความจำเป็นต้องขอการรับรองมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice), BRC (The British Retail Consortium), AIB (American institute of baking) เป็นต้น และรวมทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับที่พักอาศัย เช่นโรงแรม หรือรีสอร์ท เป็นต้น มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก เพื่อให้การดำเนินงานของอุตสาหกรรมต่างๆ ให้ได้มาตรฐาน มีความสะอาดและปลอดภัยต่อผู้บริโภคและผู้ที่รับบริการ ผู้ประกอบการจึงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรฐานต่างๆ รวมทั้งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการป้องกันและกำจัดแมลงและสัตว์พาหะในโรงงานอุตสาหกรรมดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของซากแมลงและสัตว์พาหะในผลิตภัณฑ์ การป้องกันเชื้อโรคลงสู่อาหาร หรือการป้องกันอันตรายที่เกิดจากแมลงและสัตว์พาหะทั้งทางตรงและทางอ้อม เทคนิคการป้องกันและกำจัดแมลงและสัตว์พาหะ รวมถึงการจัดการสถานประกอบการอย่างเหมาะสม จึงเป็นส่วนสำคัญที่ต้องพิจารณาเพื่อนำมาประกอบการเลือกวิธีการป้องกันและกำจัดที่มีประสิทธิภาพ โดยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผสมผสานเทคนิคหลายวิธีเข้าด้วยกันแบบบูรณาการ หรือที่เรียกว่าการจัดการแมลงและสัตว์ศัตรูแบบผสมผสาน (Integrated Pest Management: IPM) ซึ่งเป็นกระบวนการวางแผนควบคุม ป้องกัน และกำจัดแมลงและสัตว์พาหะแบบบูรณาการ โดยผสมผสานเทคนิคการจัดการหลายวิธีเข้าด้วยกันอย่างมีหลักการ และมีพื้นฐานอยู่บนความรู้ ความเข้าใจในระบบนิเวศน์ของแมลงและสัตว์พาหะ เพื่อลดจำนวนประชากรแมลงและสัตว์พาหะลง โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด ซึ่งต้องมีการวางแผนการปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอน ตลอดจนการติดตามและประเมินผล จึงจะส่งผลให้การป้องกันและกำจัดแมลงและสัตว์พาหะประสบผลสำเร็จ
การให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการป้องกันกำจัดแมลงและสัตว์พาหะ อย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลระบบควบคุมแมลงและสัตว์พาหะประจำโรงงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานของผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการ เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มสมรรถนะให้ผู้ปฏิบัติงาน ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการควบคุม ประกอบกับการเลือกใช้เทคนิคการควบคุมที่หลากหลาย และลดปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดแมลงและสัตว์ลงได้ สามารถช่วยประหยัดงบประมาณ ลดการสูญเสียของผลิตภัณฑ์ซึ่งเกิดการปนเปื้อนจากแมลง รวมทั้งสนับสนุนระบบคุณภาพต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทย ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
เพื่อเพิ่มสมรรถนะให้ผู้ปฏิบัติงานด้านระบบควบคุมแมลงและสัตว์พาหะประจำโรงงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานของผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการ ศูนย์วิจัยร่วมภาครัฐและเอกชน คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จึงได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “เทคนิคการจัดการแมลงและสัตว์พาหะแบบบูรณาการ ตามมาตรฐาน GMP รุ่นที่ 8” เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับชีววิทยาของแมลงและสัตว์พาหะ รวมทั้งเทคนิคการป้องกันกำจัดแมลงและสัตว์พาหะ โดยใช้หลักการบูรณาการอย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน ผู้รับบริการ และสิ่งแวดล้อม
วันที่อบรม: 2025-06-25
ค่าสมัคร: 1200.00
สถานะ: เปิดรับสมัคร
การพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (R2R) สำหรับบุคลากรสายสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษา รุ่นที่ 4
ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จขององค์กร คือคุณภาพของบุคลากร ซึ่งการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ และสามารถประยุกต์โดยนำหลักการและความรู้ มาใช้ให้เกิดประโยชน์รวมทั้งต่อยอดสร้างความรู้ใหม่ได้นั้น ย่อมนำไปสู่การปรับเปลี่ยนระบบการทำงานให้ดีขึ้น ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพของบุคลากรจึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ การพัฒนางานวิจัยจากงานประจำ (Routine to Research: R2R) เป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในองค์กร ในการสังเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากงานประจำที่ตนเองปฏิบัติอยู่และพัฒนาต่อยอดเป็นงานวิจัย เพื่อนำผลที่ได้มาปรับปรุงและพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า การพัฒนางานวิจัยจากงานประจำเป็นการผสมผสานระหว่างการพัฒนาคุณภาพในการทำงานและการวิจัยที่เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมต่าง ๆ ในองค์กร
บุคลากรสายวิชาการในสถาบันอุดมศึกษามีบทบาทในการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมให้มีความยั่งยืน การเสริมสร้างศักยภาพและผลิตบัณฑิตอันพึงประสงค์ของผู้ใช้บัณฑิต รวมถึงการส่งเสริมการบริการวิชาการสู่สังคม เป็นหลัก ในขณะที่บุคลากรสายสนับสนุนก็ต้องสร้างสรรค์นวัตกรรมการให้บริการเพื่อการสนับสนุนการดำเนินงานของผู้บริหารและบุคลากรสายวิชาการ ให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรสายสนับสนุน บนพื้นฐานของการพัฒนางานประจำให้ได้มาตรฐาน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสายวิชาการ และผู้บริหาร มีความจำเป็นเร่งด่วนในยุคการเปลี่ยนแปลงขององค์กร ขณะที่กระบวนการวิจัยในงานประจำ เป็นแนวคิดที่ได้ถูกนำไปใช้ในการพัฒนางานประจำ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยที่ไม่ซับซ้อนแต่สามารถยอมรับได้ เป็นผู้ที่ช่วยให้บุคลากรในองค์กรมีการพัฒนาความคิดเชิงระบบด้วยการเปลี่ยน วิธีคิด เห็นคุณค่าของการสร้างความรู้ด้วยตนเอง มีชีวิตที่คิดบวกกับการทำงาน ส่งผลให้ปัญหาถูกแก้ไข หรือพัฒนางานประจำให้ดีขึ้นกว่าเดิม ผู้รับบริการได้รับบริการที่ดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ใช้ในการตัดสินใจ ทั้งนี้เพื่อการขับเคลื่อนองค์กร ให้เป็น “องค์กรสมรรถนะสูง หรือ High Performance Organization (HPO)” ต่อไป
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษา ศูนย์วิจัยร่วมภาครัฐและเอกชน คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จึงได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (R2R) สำหรับบุคลากรสายสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษา” เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาจากงานประจำและพัฒนาเป็นงานวิจัยได้
วันที่อบรม: 2025-05-28
ค่าสมัคร: 1000.00
สถานะ: เปิดรับสมัคร