การพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงานภายใต้บทบาทของบุคลากรสายสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษา เป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จและสามารถบรรลุภาระกิจของมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ สามารถทบทวนองค์รู้ที่มีอยู่เดิมและมีการจัดการองค์ความรู้ที่เหมาะสม รวมทั้งสามารถนำหลักการและความรู้ที่ได้จากการพัฒนาไปใช้ถ่ายทอดให้กับบุคลากรอื่น ให้สามารถปฏิบัติงานนั้นๆ เป็นมาตรฐานเดียวกันและทดแทนกันได้ โดยเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการจัดการองค์ความรู้ของการปฏิบัติงานประจำคือ “คู่มือปฏิบัติงานจากงานประจำ” ซึ่งหากมีคู่มือปฏิบัติงานที่ได้มาตรฐาน ก็จะสามารถปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานได้เช่นกัน ทั้งนี้สายสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษามีลักษณะงานที่แตกต่างกัน จึงต้องมีเทคนิคการเขียนคู่มือจากงานประจำที่แตกต่างกันด้วยเช่นกัน ทั้งบุคลากรสายสนับสนุนด้านธุรการ (กลุ่มงานเฉพาะ และกลุ่มงานด้านการบริหารงานทั่วไป) และบุคลากรสายสนับสนุนด้านวิชาการ (นักวิทยาศาสตร์ ผู้ปฏิบัติงานด้านวิทยาศาสตร์ และนักวิจัย)

                       เพื่อเพิ่มสมรรถนะในการทำงานของบุคลากรสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษา ศูนย์วิจัยร่วมภาครัฐและเอกชน คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จึงได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “เทคนิคการเขียนคู่มือปฏิบัติงานจากงานประจำ” เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความสามารถเขียนคู่มือปฏิบัติงานจากงานประจำได้ 

 

 

                     

                    ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ส่งผลให้ทุกองค์กรทุกสถาบันต้องมีการปรับตัวให้เป็นนวัตกรรมบริการมากขึ้นเพื่อให้ก้าวทันต่อการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการศึกษาสถานการณ์ในอดีตถึงปัจจุบันและการศึกษาเพื่อหาสาเหตุของปัญหา/อุปสรรค์ของงานประจำ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งของกระบวนการพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมบริการที่สามารถเพิ่มศักยภาพการให้บริการที่มีคุณภาพมากกว่าเดิม โดยทักษะที่จำเป็นของผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการดังกล่าวคือ “ทักษะเชิงวิเคราะห์”

                    การพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงานภายใต้บทบาทของบุคลากรสายสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษา
ที่ต้องช่วยวิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือวิจัย เพื่อหาทางเลือก ข้อดี ข้อเสีย พร้อมแนวทางในการตัดสินใจให้กับผู้บริหารหรือสายวิชาการให้เป็นไปตามระเบียบและทันสมัยนั้น เป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จและสามารถบรรลุภาระกิจของมหาวิทยาลัยได้ โดยเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันและการศึกษาเพื่อหาสาเหตุของปัญหา/อุปสรรค์ของงานประจำคือ “การวิเคราะห์งานประจำ” ซึ่งเป็นกระบวนการแยกแยะองค์ประกอบต่างๆ อย่างเหมาะสม และหาความสัมพันธ์ขององค์ประกอบเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานสำหรับเป็นแนวทางในการปรับปรุง แก้ไข หรือพัฒนางานประจำต่อไป และยังสามารถสร้างสรรค์เป็นงานวิจัย (Routine to Research: R2R) ต่อไปได้ โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ใช้ในการตัดสินใจ ของผู้บริหารของในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งนี้เพื่อการขับเคลื่อนองค์กร ให้เป็น “องค์กรสมรรถนะสูง หรือ High Performance Organization (HPO)” ต่อไป

                    เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรสนับสนุนในสถาบันอุดมศึกษา ศูนย์วิจัยร่วมภาครัฐและเอกชน คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จึงได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “เทคนิคการเขียนงานเชิงวิเคราะห์และงานวิจัยจากงานประจำ” เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาจากงานประจำ มีการวางแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ และสามารถพัฒนาเป็นงานวิจัยได้

 

 

  

 

 

 

         

            ในปัจจุบันอุตสาหกรรมผลิตอาหารหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเวชภัณฑ์ ทั้งที่เป็นอาหารของมนุษย์และไม่ใช่อาหารของมนุษย์ อุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งมีความจำเป็นต้องขอการรับรองมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice), BRC (The British Retail Consortium), AIB (American institute of baking) เป็นต้น และรวมทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับที่พักอาศัย เช่นโรงแรม หรือรีสอร์ท เป็นต้น มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก เพื่อให้การดำเนินงานของอุตสาหกรรมต่างๆ ให้ได้มาตรฐาน มีความสะอาดและปลอดภัยต่อผู้บริโภคและผู้ที่รับบริการ ผู้ประกอบการจึงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรฐานต่างๆ รวมทั้งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการป้องกันและกำจัดแมลงและสัตว์พาหะในโรงงานอุตสาหกรรมดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของซากแมลงและสัตว์พาหะในผลิตภัณฑ์ การป้องกันเชื้อโรคลงสู่อาหาร หรือการป้องกันอันตรายที่เกิดจากแมลงและสัตว์พาหะทั้งทางตรงและทางอ้อม เทคนิคการป้องกันและกำจัดแมลงและสัตว์พาหะ รวมถึงการจัดการสถานประกอบการอย่างเหมาะสม จึงเป็นส่วนสำคัญที่ต้องพิจารณาเพื่อนำมาประกอบการเลือกวิธีการป้องกันและกำจัดที่มีประสิทธิภาพ โดยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผสมผสานเทคนิคหลายวิธีเข้าด้วยกันแบบบูรณาการ หรือที่เรียกว่าการจัดการแมลงและสัตว์ศัตรูแบบผสมผสาน (Integrated Pest Management: IPM) ซึ่งเป็นกระบวนการวางแผนควบคุม ป้องกัน และกำจัดแมลงและสัตว์พาหะแบบบูรณาการ โดยผสมผสานเทคนิคการจัดการหลายวิธีเข้าด้วยกันอย่างมีหลักการ และมีพื้นฐานอยู่บนความรู้ ความเข้าใจในระบบนิเวศน์ของแมลงและสัตว์พาหะ เพื่อลดจำนวนประชากรแมลงและสัตว์พาหะลง โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด ซึ่งต้องมีการวางแผนการปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอน ตลอดจนการติดตามและประเมินผล จึงจะส่งผลให้การป้องกันและกำจัดแมลงและสัตว์พาหะประสบผลสำเร็จ